ถาม - ตอบ ทำไมเด็กไทยต้องเรียนพิเศษ
ก่อนอื่นต้องดูจุดประสงค์ว่าเรียนไปเพื่ออะไร เกือบร้อยทั้งร้อยในบ้านเราคือติวเพื่อสอบเข้า ในบริบทนี้มีเป้าหมายคือสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ "พึงใจ" หมายความว่าไม่ใช่ที่ไหนก็ได้ แต่เป็นมหาวิทยาลัยที่อยากเข้าได้เพราะชื่อเสียง เพราะเชื่อว่าจะเป็นการเปิดทางสู่อนาคตการทำงานที่ง่ายกว่า คือน่าจะเป็นที่ต้องการของนายจ้างส่วนใหญ่มากกว่า คราวนี้ที่นั่งของสถาบันเหล่านั้นย่อมมีจำกัดเป็นธรรมดา การสอบก็มีไว้ไม่เพียงเพื่อให้แน่ใจว่าคนที่เข้าไปจะมีความสามารถเพียงพอจะเรียนได้ แต่ข้อสอบต้องเข้มมากพอที่จะ"คัดกรองคน"จำนวนมหาศาลขนาดนั้น เพื่อให้เหลือจำนวนที่พอดีกับที่นั่งให้ได้ ข้อสอบแม้จะยืนยันว่าอยู่ในหลักสูตรทั้งหมด แต่ต้องมีความซับซ้อนหรือหินพอที่จะกรองคนออกจำนวนมากๆได้ค่ะ เวลาที่มีในโรงเรียนไม่เพียงพอที่จะฝึกทักษะระดับนั้นได้อยู่แล้ว และในความเป็นจริงก็ไม่ใช่ครูทุกคนมีความสามารถพอที่จะรองรับความซับซ้อน ระดับนั้นได้ด้วย พูดง่ายๆความซับซ้อนของข้อสอบทั้งหมดก็ยังเกินความสามารถครูส่วนใหญ่ในประเทศ
ติวเตอร์หรือครูระดับหัวกะทิทั้งหลายจึงมาเติมเต็มในส่วนนี้ในบทบาทของ “ครูสอนพิเศษ” คือพาเด็กเก่งให้ถึงฝัน (แน่นอนไม่ใช่เด็กทุกคนที่ติวจะสอบเข้าได้เหมือนกัน ต้องมีความสามารถและวิริยะอุตสาหะมากไปอีกขั้นถึงจะรอดจากตะแกรงถี่ขนาดนั้นได้)
นี่คือปัจจัยสำคัญแรกของที่มาที่ไป น่าแปลกที่ฟันเฟืองหนึ่งในกลไกที่ถูกบังคับมาให้เป็นอย่างนั้นกลับถูกมองเป็นผู้ร้ายอยู่เสมอ ด้วยข้อกล่าวหาที่ได้ยินโดยทั่วไปเกี่ยวกับครูสอนพิเศษ
ผู้เขียนเองในชีวิตมีโอกาสได้รับประสบการณ์ตรงกับการเรียนในสถาบันที่ได้รับการยอมรับว่ามีชื่อเสียงอันดับต้นๆในทุกระดับ (ประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย มหาวิทยาลัย) การจะสอบคัดเลือกเพื่อเข้าแต่ละขั้นในตอนนั้น ถ้าไม่พึ่งครูสอนพิเศษก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะที่นั่งมีมากกว่าจำนวนเด็กเข้าสอบในอัตราส่วนที่น่าตกใจ ต่อให้ทุกโรงเรียนสอนมาเหมือนกันก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าได้ ต้องมีการ
ทำงานหนักเพื่อให้คะแนนทิ้งห่างมากพอ
คราวนี้ถามว่า ทำไมเด็กไทยจึงดูเหมือนจะต้องเรียนพิเศษมากกว่าเด็กในประเทศอื่นๆที่พัฒนาแล้ว ซึ่งดูเหมือนเด็กจะไม่ต้องติวกันขนาดนี้ เท่าที่มองเห็นได้ชัด มีสามปัจจัยหลักๆ คือ
1. มาตรฐานสถาบันการศึกษา
2. อัตราส่วนสถาบันต่อจำนวนเด็ก (demand-supply)
3. ค่านิยมของคนในสังคม
มาตรฐานสถาบันการศึกษา :
ในขณะที่ประเทศต้นแบบทางการศึกษาทั้งหลาย เช่นอังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา มีระบบควบคุมมาตรฐานการศึกษาและครูที่สูงและเข้มข้น หันกลับมามองในไทย การควบคุมมาตรฐานยังหย่อนและต่ำมาก โรงเรียนดังกับโรงเรียนธรรมดาและโรงเรียนห่างไกล ส่วนใหญ่มีคุณภาพในทุกด้านห่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ(โดยเฉพาะคุณภาพครูที่จะพูดถึงต่อไป) แน่นอนว่าสำหรับบางโรงเรียนก็มีข้อยกเว้นหากบังเอิญ"โชคดี"ได้ผู้บริหารเก่งๆไปพัฒนา จึงเป็นการผลักผู้ปกครองส่วนใหญ่โดยปริยายให้พยายามให้ลูกได้เข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดเท่าที่ตัวเองจะสามารถทำได้ในทุกปัจจัยที่มี ซึ่งแต่ละบ้านก็ไม่เท่ากัน
เรื่องมาตรฐานสถาบันนี้ นอกจากจะมีในทุกระดับแล้ว ยังมีความต่างและห่างมากในสถาบันที่อยู่กันคนละระบบอีกด้วย เช่นสายสามัญ(ซึ่งไปจบที่มหาวิทยาลัย) กับสายอาชีพ (ซึ่งไปจบที่สถาบันอาชีวะ) มีความสามารถในการผลิตและคุณภาพมาตรฐานการศึกษาโดยเฉลี่ยที่"ห่าง"กันอย่างชัดเจน ในประเทศต้นแบบอย่างอังกฤษ เรื่องนี้ถูกให้ความสำคัญ จนสถาบันสายอาชีพ(vocational school) มีมาตรฐานเพียงพอที่ผู้เรียนจะรู้สึกว่าเป็นที่"พึงใจ"เลือกเรียนได้ ไม่ต้องเป็นเพียงตัวสำรองแบบที่เป็นในเมืองไทย
อัตราส่วนสถาบันต่อจำนวนเด็ก (demand-supply):
ณ ตอนนี้ที่เห็นคือปัญหาในสายสามัญมากกว่า ซึ่งจริงๆก็เชื่อมโยงกับข้อหนึ่ง(มาตรฐานสถาบัน) กับข้อสาม(ค่านิยม ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป) คือถ้าปัญหาที่หนึ่งและสามหายไป ข้อสองนี้จะได้รับการบรรเทาโดยอัตโนมัติ ปัจจุบันเหมือนมีปลาจำนวนมาก พยายามเข้าไปอยู่ในตู้ปลาสวยๆที่มีจำกัด ถ้าเมื่อไหร่ตู้ปลาทุกตู้ถูกทำให้สวยงามพอกัน และปลาทั้งหลายเห็นดีเห็นงามกับความสวยที่อาจไม่ต้องเหมือนกันเหล่านั้น ปัญหาเรื่องปลาล้นบางตู้จะหายไป แน่นอนเรายังไม่ได้พูดถึงค่านิยมที่ว่าทำไมปลาแทบทุกตัวต้องอยากอยู่ในตู้!
ค่านิยม:
อันนี้มีสองส่วนใหญ่ๆคือค่านิยมเชิงสังคม(หน้าตา) และค่านิยมในการจ้างงาน เรายังอยู่ในสังคมที่ให้คุณค่ากับ"ฉลาก" มากกว่า "ปัจเจก" คือมีความเชื่อว่าถ้ามีฉลากมาจากสถาบันนี้จะเป็นเครื่องการันตีความสามารถ แทนที่จะพิจารณาเป็นรายบุคคลอย่างถ้วนถี่ ซึ่งแน่นอนว่าการมองแบบเหมาๆ(stereotype)นี้ เรื่องมาตรฐานการศึกษาในข้อหนึ่งก็มีส่วนรับผิดชอบอยู่บ้าง เช่นถ้านายจ้างเคยจ้างผู้จบจากสถาบัน ก. 100 คนเข้าทำงาน มี 75 คนมีคุณภาพที่น่าพอใจ แต่ประสบการณ์การจ้างเด็กจากสถาบัน ข. มีเพียง 45 คนที่น่าพอใจ ก็ไม่แปลกที่นายจ้างนั้นจะกรองคนจากสถาบันก.เข้ามามากกว่าตั้งแต่ขั้นตอนคัดเลือกใบสมัครแล้ว อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าเรื่องค่านิยมในสังคมไทยที่เห็นเรื่องหน้าตาและวัฒนธรรมกลุ่ม เป็นใหญ่ ก็เป็นอะไรที่มากกว่านั้น คือน้อยมากที่เราจะมองคนเป็นปัจเจก และพิจารณาถึงคุณสมบัติของคนหนึ่งคนอย่างลึกซึ้งโดยไม่ถูกบดบังจากปัจจัย ภายนอกในระดับที่เรียกได้ว่า out weight หรือ“ไม่สมดุลย์”กับภาพรวมที่ควรจะมอง ระดับเงินเดือนเริ่มต้นขององค์กรใหญ่ๆหลายแห่งในเมืองไทยยังถูกกำหนดด้วยวุฒิการศึกษาของผู้เข้าทำงาน
คราวนี้ถามว่าจะแก้อย่างไร คงต้องไปที่ข้อหนึ่ง คือการพัฒนามาตรฐานสถาบันการศึกษา เป็นหลัก เพราะสองกับสามนั้นคือผลพวงของข้อหนึ่งไม่มากก็น้อย ปัจจุบันมีความพยายามหลายๆอย่างที่จะทำ แต่ที่ยังไม่เคยถูกแก้อย่างจริงจังจนสำเร็จคือการยกระดับมาตรฐานครู ในการยกระดับมาตรฐานการศึกษา โดยส่วนตัวมองว่าเรื่องบุคลากรเป็นเรื่องใหญ่สุด เพราะไม่ใช่ว่าเราไม่รู้จะไปอย่างไร โมเดลการศึกษาดีๆในโลกมีมากมายให้เปิดใจและเลือกมาปรับใช้ แต่เราขาดคนที่"มีปัญญาจะทำ"จริงๆใน“ปริมาณที่มากพอ” แล้วเงินเดือนของบุคลากรทางการศึกษาในทุกระดับที่เป็นอยู่นั้นต่ำจนไม่ สามารถดึงดูดหัว กะทิของประเทศในปริมาณที่มากพอให้มาช่วยกันยกระดับทั้งหมดได้ แม้จะมีความพยายามในการปฏิรูปการศึกษาในหลายๆส่วนมาหลายปีแล้ว การขึ้นเงินเดือนบุคลากร"เข้าใหม่" จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะได้มาซึ่งเลือดของคนในวงการที่เข้มขึ้น ข้นขึ้น เพียงพอที่จะนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายให้แข็งแรง ภายในระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงที่น่าจะเห็นผลชัดเจนได้ในสิบปี
พูดง่ายๆ คือในจุดเริ่มต้นอยากเสนอให้มีการปรับโครงสร้างเงินเดือนครูและนักการศึกษา หรือนักวิชาการผู้จะมีส่วนในการปฏิรูป ปรับอัตราจ้างเริ่มต้นให้สูงอย่างมีนัยยะสำคัญ ใครอยู่ในระบบอยู่แล้วถ้าอยากได้รับการปรับฐานเงินเดือนก็ต้องมาสอบมาตรฐานใหม่ให้ผ่าน ไม่ผ่านไม่ต้องปรับให้เพราะถือว่ามูลค่าตลาดปัจจุบันมีแค่นั้น
เราต้องทำให้มีคนเก่งเหนือเฉลี่ยมา ทำงานในวงการการศึกษาให้มากๆ ไม่ใช่ให้เต็มไปด้วยคนที่เหลือจากการคัดกรองของระบบ (เป็นข้อเท็จจริงที่ว่า คณะครุหรือศึกษาศาสตร์ไม่ใช่คณะที่ "คนเก่ง"ส่วนใหญ่จะเลือกเป็นลำดับต้นๆ เพราะแม้ใจรักก็มักจะรับระดับเงินเดือนต่ำขนาดนั้นไม่ไหว) ประเทศที่พัฒนาได้ดี ครูบาอาจารย์ของชาติไม่ใช่คนที่รับเงินเดือนต่ำเป็นอันดับต้นๆของสังคม เหมือนเราหรอกค่ะ ในสังคมอุดมปัญญา อาชีพที่จะมีส่วนช่วยยกระดับสติปัญญาของคนในชาติเช่นสื่อมวลชนและครูควรจะมีค่าตอบแทนที่สูงเหนือเฉลี่ย
จะทำอย่างนี้ได้ เราต้องปรับวัฒนธรรมความเชื่อแบบ"ไทยๆ"บางอย่างที่มีส่วนถ่วงความเจริญ ทางการศึกษาของบ้านเราอยู่ไปก่อน เปิดใจยอมรับว่าการศึกษาบ้านเรามีปัญหาหนัก ชาติเราไม่ได้เต็มไปด้วยคนเก่งและ “ไม่น้อยหน้าใครในโลก” และเราต้องการยาแรง
(บทความนี้เกิดจากได้ตอบคำถามของเพื่อนท่านหนึ่ง เลยนำมารวบรวมไว้ เพื่อประโยชน์ในการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น)
credit : Matichon Online
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น